|
|
|
|
|
|
ยิมนาสติกต้านชรา ยิ่งโดด ประโยชน์ยิ่งเด้ง |
"ยิมนาสติกต้านชรา" กำลังเป็นที่นิยมยอดฮิตในหมู่ชาวเมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
จากงานวิจัยด้านเวชศาสตร์อายุรวัฒน์ที่ ดร.กรุณา นนทรักส์ นิสิตปริญญาเอกจุฬาฯ ที่ นพ.กฤษดาเป็นที่ปรึกษาอยู่นั้น ได้ริเริ่มทำขึ้นมาในชมรมผู้สูงอายุที่วัดธาตุทองจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงได้นำพางานวิจัยนี้ออกสู่สากล เพราะเห็นหนทางว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปได้ในวงกว้าง เพราะถ้าเป็นประโยชน์กับคนไทยได้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับชาวโลกได้เหมือนกัน
นพ.กฤษดา เพิ่งกลับมาจากงาน "ยิมนาสตราด้าโลก (World Gymnaestrada 2011)" ที่เปรียบเสมือนโอลิมปิกแห่งยิมนาสติก โดยครั้งนี้จัดที่เมืองโลซานน์ จึงนำความรู้ทางด้านวิชาการมาดัดแปลงเป็นภาษาบ้านๆ อ่านง่ายๆ ที่ว่าด้วยเรื่องของ "ยิมนาสติกต้านชราอายุรวัฒน์"
1. ฝึกยืน เป็นพื้นฐานแรก เพราะจะออกยิมได้ต้อง "ยืนแข็ง" เสียก่อนเหมือนการตั้งไข่ วิธียืนต้านชราคือให้รู้สึกเสมือนว่ามีเชือกโยงจากปลายจมูกเราขึ้นไปถึงท้องฟ้าแล้วเวลายืนให้หน้าตั้งตัวตรงแขม่วพุง เก็บก้น อยู่ในท่านี้ตลอดเวลาจนเป็นนิสัย
2. ฝึกนั่ง ท่านั่งบนเก้าอี้เป็นที่สำคัญ ขออย่านั่งตัวห่อไหล่หุบตามสบายบ่อยนักเพราะมักทำให้กระดูกผิดรูปไปกองรวมกัน และการนั่งไขว่ห้างเป็นประจำก็ไม่ดี เพราะจะทำให้ขาใหญ่ได้ ขอให้นั่งตัวตรงเช่นกัน หัวไหล่อยู่ในแนวเดียวกับเอว ไม่แอ่นหรือหงายเกินไปนัก นั่งไม่จมกับเก้าอี้ และมีคอที่ตั้งตรงอยู่เสมอ
3. ฝึกนอน ถ้านอนผิด จะส่งผลต่อสุขภาพช่วงกลางวันมาก อยากให้นอนหงาย ถ้าน้ำหนักตัวไม่มากเกิน 50 กิโลกรัม แต่ถ้ามากนักให้นอนตะแคงจะได้ไม่เกิดหยุดหายใจขณะหลับ คนที่นอนหงายอาจหาหมอนสักใบมาหนุนใต้ท้องขาอ่อน ส่วนคนที่นอนตะแคง ขอให้นอนกอดหมอนข้างไว้จะได้ไม่ปวดหลัง
4. ฝึกหมุน ตอนนี้เรากำลังเริ่มเข้าสู่ "เบสิกของยิมนาสติก" แล้วนั่นคือความคล่องตัว (Agility) ที่ควรมี ถ้าให้ดีต้องมี "ตัวช่วย" คือริบบิ้นยาวสัก 1 หลา หรือกระดาษทิชชูม้วนขนาดยาวพอกัน แล้วใช้มันหมุนตัวไม่ให้ปลายตกสัมผัสพื้น ค่อยๆ ทำ อย่าฝืน ถ้ามึนหัวให้หยุด สำคัญสุดคือร่างกายต้องพร้อม ต่อจากนั้นอาจ "จัดเต็ม" ด้วยการกระโดดไปด้วยตามสไตล์ยิมนาสติกลีลา
5. ฝึกเลี้ยง (ลูก) อุปกรณ์ยิมนาสติกอีกอย่างคือ "ลูกบอล" ถ้าตอนนี้ไม่มีท่าที่รักอาจใช้ "กระดาษหนังสือพิมพ์" ขยำรวมกันเป็นก้อนเหมือนบอลกระดาษ แล้วเอามาหมุนผ่านตัว โดยอ้อมข้างหลังเพื่อเพิ่มความคล่องของกล้ามเนื้อและสายตา และอีกท่าคือนั่งเก้าอี้ โดยมีบอลกระดาษนี้เลี้ยงอยู่ใต้เก้าอี้ขึ้น-ลงก็ได้
จะเห็นว่าการออกกำลังต้านชราด้วยยิมนาสติกมีการใช้ประสาทสัมผัสแบบรวมหลายส่วน เช่น ประสาทตา, สมอง, หัวใจ, กระดูกและข้อต่อมาผสานกัน เปรียบได้กับปริญญาเอกของการเอ็กเซอร์ไซส์ทีเดียว และที่เกี่ยวข้องที่สุดคือการ "ฝึกใจ" ไปด้วยนั่นเอง ... ว่าแล้วก็มาขยับร่างกายกันดีกว่า
"อย่าลืม ‘อุ่นเครื่อง (Warm up)' ด้วยการยืดหยุ่นตัวและให้หัวใจได้เดินเครื่องพร้อมสักหน่อย และที่สำคัญคือต้องมี "วินัย" ทำให้สม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมง เพราะถ้าทำๆ หยุดๆ จะทำให้กล้ามเนื้อไม่เข้าที่มีปวดเจ็บได้อีกเหมือนกัน"
|
|
|
|
|
|
|